ภาพยนตร์โฆษณา - ต่อต้านคอร์รัปชั่น

ภาพยนตร์โฆษณา - ต่อต้านคอร์รัปชั่น

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

นาฏศิลป์ไทย


วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550

นาฏศิลป์ไทย

นาฏศิลป์ หมายถึง ศิลปะการฟ้อนรำ หรือความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตงดงาม ให้ความบันเทิง อันโน้มน้าวอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชมให้คล้อยตาม ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น หรือเรียกว่า ศิลปะของการร้องรำทำเพลง การศึกษานาฏศิลป์ เป็นการศึกษาวัฒนธรรมแขนงหนึ่ง นาฏศิลป์เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะสาขาวิจิตรศิลป์ อันประกอบด้วย จิตรกรรม สถาปัตยกรรม วรรณคดี ดนตรี และนาฏศิลป์ นาฏศิลป์ นอกจากจะแสดงความเป็นอารยะของประเทศแล้ว ยังเป็นเสมือนแหล่งรวมศิลปะและการแสดงหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในการที่จะสร้างสรรค์ อนุรักษ์ และถ่ายทอดสืบต่อไป
ที่มาของนาฏศิลป์ไทยนาฏศิลป์ไทยมีกำเนิดมาจาก
๑. การเลียนแบบธรรมชาติ แบ่งเป็น ๓ ขึ้น คือ ขั้นต้น เกิดแต่วิสัยสัตว์ เมื่อเวทนาเสวยอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ถ้าอารมณ์แรงกล้าไม่กลั้นไว้ได้ ก็แสดงออกมาให้เห็นปรากฏ เช่น เด็กทารกเมื่อพอใจ ก็หัวเราะตบมือ กระโดดโลดเต้น เมื่อไม่พอใจก็ร้องไห้ ดิ้นรน ขั้นต่อมา เมื่อคนรู้ความหมายของกิริยาท่าทางมากขึ้น ก็ใช้กิริยาเหล่านั้นเป็นภาษาสื่อความหมาย ให้ผู้อื่นรู้ความรู้สึกและความประสงค์ เช่น ต้องการแสดงความเสน่หาก็ยิ้มแย้ม กรุ้มกริ่มชม้อยชม้ายชายตา หรือโกรธเคืองก็ทำหน้าตาถมึงทึง กระทืบ กระแทก ต่อมาอีกขั้นหนึ่ง มีผู้ฉลาดเลือกเอากิริยาท่าทาง ซึ่งแสดงอารมณ์ต่างๆ นั้นมาเรียบเรียงสอดคล้อง ติดต่อกันเป็นขบวนฟ้อนรำให้เห็นงาม จนเป็นที่ต้องตาติดใจคน
๒. การเซ่นสรวงบูชา มนุษย์แต่โบราณมามีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการบูชา เซ่นสรวง เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทานพรให้ตนสมปรารถนา หรือขอให้ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาให้สิ้นไป การบูชาเซ่นสรวง มักถวายสิ่งที่ตนเห็นว่าดีหรือที่ตนพอใจ เช่น ข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ ดอกไม้ จนถึง การขับร้อง ฟ้อนรำ เพื่อให้สิ่งที่ตนเคารพบูชานั้นพอใจ ต่อมามีการฟ้อนรำบำเรอกษัตริย์ด้วย ถือว่าเป็นสมมุติเทพที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ มีการฟ้อนรำรับขวัญขุนศึกนักรบผู้กล้าหาญ ที่มีชัยในการสงครามปราบข้าศึกศัตรู ต่อมาการฟ้อนรำก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงมา กลายเป็นการฟ้อนรำเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป
๓. การรับอารยธรรมของอินเดีย เมื่อไทยมาอยู่ในสุวรรณภูมิใหม่ๆ นั้น มีชนชาติมอญ และชาติขอมเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนแล้ว ชาติทั้งสองนั้นได้รับอารยธรรมของอินเดียไว้มากมายเป็นเวลานาน เมื่อไทยมาอยู่ในระหว่างชนชาติทั้งสองนี้ ก็มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ไทยจึงพลอยได้รับอารยธรรมอินเดียไว้หลายด้าน เช่น ภาษา ประเพณี ตลอดจนศิลปการละคร ได้แก่ ระบำ ละครและโขน

พิธีไหว้ครูนาฎศิลป์การไหว้ครูนับเป็นวัฒนธรรมไทยแบบหนึ่ง เป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามในส่วนที่เกี่ยวกับกิริยามายาท สัมมาคารวะ และมีส่วนที่จะโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ให้รักษาคุณความดี รักษาวิทยาการสืบเนื่องไปด้วยดี ทั้งยังจูงใจให้เป็นผู้มีนิสัยอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง การไหว้ครู คือ การแสดงถึงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์และครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตนรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า

ประวัติการไหว้ครู
การประกอบพิธีไหว้ครูนั้นได้มีการกำหนดระเบียบแบบแผน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติโดยการบอกเล่าต่อๆ กันมาเป็นมุขปาฐะ ตำราพิธีไหว้ครูและครอบโขน-ละครของไทยมีอยู่ ๒ ฉบับ คือ สมุดไทยมีจำนวน ๓ เล่ม แต่คงเหลือเพียงเล่ม ๒ เล่มเดียว ส่วนเล่ม ๑ และ เล่ม ๓ หายไป มีนักปราชญ์ได้รวบรวมชำระทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็นพิธีไหว้ครูครอบโขน-ละครฉบับหลวง ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือ สมุดไทย เล่ม ๒ ซึ่งหลงเหลือมาจากฉบับแรก แล้วตีพิมพ์ใช้เป็นแบบฉบับของการทำพิธีไว้ครูและครอบโขน-ละครในรัชการลที่ ๖ ในสมัยรัชการลที่ ๔ พิธีไหว้ครูละครหลวงได้เริ่มเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ.๒๓๙๗ ส่วนการไหว้ครูนอกพระราชวังนั้นเริ่มมีมานานแล้ว เพราะได้ปฏิบัติกันเป็นประเพณีติดต่อกัน เช่น การฝึกหัดละครโนห์ราชาตรี เมื่อหัดรำเพลงครูได้แล้ว ครูจึงสอนให้ท่องบท เพราะละครโนห์ราชาตรียังใช้ร้องกลอนสด (เหมือนอย่างเล่นเพลงลิเก) ไม่มีหนังสือบทอย่างละครในกรุงเทพฯ แล้วสอนให้ร้องรำทำบทไปจนพอทำได้ ผู้ที่เป็นครูหัดจึงพาไปให้ครูครอบเรียกว่า "เข้าครู" พิธีไหว้ครูนั้นมีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย โดยเฉพาะในวงการศิลปินแล้วการไหว้ครูเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับลัทธิธรรมเนียมของการแสดงโขน-ละคร เพราะลักษณะพิเศษของโขน-ละครไทยนั้น นอกจากจะเป็นนาฏศิลป์และว่าเป็นลัทธิอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นลัทธิมีพิธีกรรมของตนเอง และโดยเหตุนี้ นาฏศิลป์ไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับศาสนาฮินดูตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ลัทธิธรรมเนียมของโขน-ละครไทยที่เกิดขึ้นต่อมาจึงหนักไปในทางไสยศาสตร์หรือศาสนาฮินดู เทพเจ้าอันเป็นที่นับถือในลัทธิโขน-ละครนี้ คือ พระเป็นเจ้าของศาสนาฮินดู ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และพระพิฆเนศ นอกจากนั้นก็มีเทพเจ้าอื่นๆ อีกบางองค์ เช่น พระปรคนธรรพ ผู้ซึ่งถือกันว่าเป็นใหญ่ในทางดนตรี รองลงมาได้แก่ ครูปัธยาย ซึ่งมีวัตถุที่เคารพแสดงออกด้วยหัวโขน ได้แก่ พระภรตฤษี หัวโขนยักษ์ หัวโขนพระราม พระลักษมณ์ เทริดโนห์รา และรัดเกล้าอันเป็นศิราภรณ์ของนางกษัตริย์ ในเรื่องละครหัวโขนอื่นๆ ที่ใช้ในการแสดงนั้น ถือว่าเป็นวัตถุที่เคารพทั้งสิ้น จะจับต้องหรือตั้งไว้ที่ใดก็ต้องกระทำด้วยความเคารพ ประเพณีโบราณ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะเป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูและพิธีครอบโขนละคร ตลอดจนประสิทธิ์ประสาทให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นประธานพิธีไหว้ครูสืบไป จะต้องเป็นผู้ได้รับครอบโดยถูกต้องตามขั้นตอน เช่น ได้รับมอบตำราเครื่องโรง (อาวุธต่างๆ) จากครูซึ่งมีคุณสมบัติเป็นครู ผู้ที่ได้รับครอบสืบทอดมาก่อนแล้ว หรือได้รับพระราชทานครอบจากพระมหากษัตริย์ เพราะราชประเพณีไทยแต่โบราณถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ ทรงพระบารมีเหนือเทพเจ้าผู้เป็นครูแห่งศิลปะทั้งหลาย ฉะนั้น การที่ทรงกระทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปะไม่ว่าจะเป็นพิธีไหว้ครู หรือพระราชทานครอบ หรือทรงประสิทธิ์ประสาทให้ประกอบกิจใดๆ ย่อมกระทำได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานครอบก็จะสามารถประกอบพิธีครอบผู้อื่นต่อไปได้ คุณสมบัติของครูผู้ที่รับการคัดเลือก ให้ได้รับครอบให้เป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูและครอบนั้น ต้องเป็นบุรุษที่แสดงเป็นตัวพระ เพราะถือว่า ผู้แสดงเป็นตัวพระเท่ากับเทวดา ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี เคยอุปสมบทมาแล้ว มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม มีความรู้ทางนาฏศิลป์ชั้นสูง มีความเชี่ยวชาญในการแสดง และมีศิษย์ที่ตนเองฝึกสอนจำนวนพอสมควร
พิธีครอบของกรมศิลปากร ครูผู้กระทำพิธีครอบได้สืบทอดมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฏ) และนายอาคม สายาคม และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ หลังจากที่นายอาคม สายาคม ถึงแก่มรณกรรมแล้ว มิได้ครอบถ่ายทอดให้แก่ผู้ใด จึงหมดผู้ที่จะกระทำพิธีต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกอบพระราชพิธีครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร ตามแบบแผนราชประเพณีโบราณ ซึ่งได้ผนวกเอาพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพเข้าในวันนั้นด้วย พระราชพิธีกระทำในวันพฤหัสบดี ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๗ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญสูงสุดของวงการนาฏศิลปิ์และดุริยางคศิลป์ไทย เป็นพระราชพิธีครั้งแรกของประเทศไทย นับเป็นประวัติศาสตร์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
ประเภทของนาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ไทย จำแนกออกได้เป็น
1. การแสดงโขน
โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทย มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการเล่นโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทางเข้ากับเสียงซอและเครื่องดนตรีอื่นๆ ผู้เต้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ โขนเป็นที่รวมของศิลปะหลายแขนงคือ โขนนำวิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ โขนนำท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำท่าเต้นมาจากกระบี่กระบอง และโขนนำศิลปะการพากย์การเจรจา หน้าพาทย์เพลงดนตรี การแสดงโขน ผู้แสดงสวมศีรษะคือหัวโขน ปิดหน้าหมด ยกเว้น เทวดา มนุษย์ และมเหสี ธิดาพระยายักษ์ มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้และมีคนพากย์และเจรจาให้ด้วย เรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์

ประเภทของโขน แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
๑ โขนกลางแปลง ๒ โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว ๓ โขนหน้าจอ ๔ โขนโรงใน ๕ โขนฉาก
๑. โขนกลางแปลง คือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่น นิยมแสดงตอนยกทัพรบกัน โขนกลางแปลงได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เรื่องกวนน้ำอมฤต เรื่องมีอยู่ว่า เทวดาและอสูรใคร่จะเป็นอมตะ จึงไปทูลพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงแนะนำให้กวนน้ำอมฤต โดยใช้เขามนทคิรีเป็นไม้กวน เอาพระยาวาสุกรีเป็นเชือกพันรอบเขา เทวดาชักทางหาง หมุนเขาไปมา พระยาวาสุกรีพ่นพิษออกมา พระนารายณ์เชิญให้พระอิศวรดื่มพิษนั้นเสีย พระอิศวรจึงมีศอสีนิลเพราะพิษไหม้ ครั้นกวนต่อไป เขามนทคิรีทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคิรีไว้ ครั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกันจนเกิดสงคราม พระนารายณ์จึงนำน้ำอมฤตไปเสีย พวกอสูรไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงเป็นใหญ่ในสวรรค์ พระนารายณ์เมื่อได้น้ำอมฤตไปแล้ว ก็แบ่งน้ำอมฤตให้เทวดาและอสูรดื่ม พระนารายณ์แปลงเป็นนางงามรินน้ำอมฤตให้เทวดา แต่รินน้ำธรรมดาให้อสูร ฝ่ายราหูเป็นพี่น้องกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่ราหูเป็อสูร ราหูเห็นเทวดาสดชื่นแข็งแรงเมื่อได้ดื่มน้ำอมฤต แต่อสูรยังคงอ่อนเพลียอยู่ เห็นผิดสังเกต จึงแปลงเป็นเทวดาไปปะปนอยู่ในหมู่เทวดา จึงพลอยได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย พระอาทิตย์และพระจันทร์จึงแอบบอกพระนารายณ์ พระนารายณ์โกรธมากที่ราหูตบตาพระองค์ จึงขว้างจักรไปตัดกลางตัวราหู ร่างกายท่อนบนได้รับน้ำอมฤตก็เป็นอมตะ แต่ร่างกายท่อนล่างตายไป ราหูจึงเป็นยักษ์มีกายครึ่งท่อน ราหูโกรธและอาฆาตพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก พบที่ไหนก็อมทันที เกิดเป็นราหูอมจันทร์หรือจันทรคราสและสุริยคราส ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ามาเทศนาให้ราหูเลิกพยาบาทจองเวร ราหูจึงได้คลายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ออก การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เล่นในพิธีอินทราภิเษก มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โขนกลางแปลงนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพ การเต้นประกอบหน้าพาทย์ มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์ และเล่นตอนฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามยกทัพรบกัน จึงมีการเต้นประกอบหน้าพาทย์ และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้างแต่ไม่มีบทร้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น